นโยบายประกันรายได้เกษตรกร
เป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวเปลือก ที่ไม่บิดเบือนกลไกตลาดและช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐบาล โดยในระยะแรกจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรนอกจากการรับจำนำและในระยะยาวจะเป็นระบบแทนที่การรับจำนำวัตถุประสงค์
1. เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รับราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวเปลือกที่สูงขึ้น
2. เพื่อเป็นการใช้กลไกตลาดในการสร้างเสถียรภาพราคาในระยะยาวและมีความยั่งยืน
3. เพื่อลดภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร
การกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง
คณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงพืชเศรษฐกิจทั้ง 3 ชนิด ทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายอัตราชดเชยรายได้ให้เกษตรกร แล้วนำเสนอประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ประธานกรรมการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และประธาน กขช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยประกาศทุกวันที่ 1 และ วันที่ 16 ของเดือนระยะเวลาดำเนินการ
1. การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และการจัดประชุมประชาคม เพื่อรับรองการผลิตของเกษตรกร โดยคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบล เดือน กรกฎาคม – กันยายน 2552 ข้าวนาปีขยายเวลาถึง เดือน ตุลาคม 25522. การทำสัญญาประกันราคา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน 2552 โดย ธ.ก.ส. ทำสัญญาประกันราคากับเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
เกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ
1. เป็นเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2552/53 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 หรือข้าวเปลือก ปี 2552/53 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มีรายชื่อในระบบโปรแกรมของ ธ.ก.ส.)
2. เป็นเกษตรกรที่มีหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนการปลูกมันสำปะหลัง ปี 2552/53 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 หรือข้าวเปลือก ปี 2552/53 ที่ออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตร
3. เข้าร่วมโครงการได้ครัวเรือนละ 1 รายเว้นแต่แยกการทำกินสามารถเข้าร่วมได้มากกว่า 1 ราย
4. เกษตรกรทั่วไปขอเข้าโครงการได้ตามภูมิลำเนา (สำเนาทะเบียนบ้าน) ณ ธ.ก.ส. สาขาที่ตั้งภูมิลำเนา
5. ลูกค้า ธ.ก.ส. ขอเข้าโครงการได้ ณ ธ.ก.ส. สาขาที่ลูกค้าสังกัด
ผลดีของการใช้นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร
1. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับส่วนต่างระหว่างเกณฑ์กลางอ้างอิงกับราคาประกันเป็นเงินโดยตรงจากรัฐ กรณีราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกัน ช่วยให้เกษตรกรไม่ขาดทุนจากการขายผลผลิต
2. การจดทะเบียนเกษตรกรและพื้นที่เพาะปลูกเพื่อทำประกันราคาจะช่วยลดปัญหาการสวมสิทธิ์จากการผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้าน
3. ไม่เป็นภาระกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างระหว่าง ราคาตลาดอ้างอิงกับราคาประกันให้กับเกษตรกรเท่านั้น รัฐบาลไม่ต้องรับภาระเกี่ยวกับการแปรสภาพและการจัดเก็บผลผลิตในสต็อกของรัฐบาล
4. ลดปัญหาการทุจริต และการแสวงหาประโยชน์จากการรับจำนำของผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆ คงเหลือเพียงระดับเกษตรกร และเจ้าหน้าที่จดทะเบียน
5. กลไกการค้าผลิตผลเข้าสู้ภาวะปกติ กลับมามีการแข่งขัน รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการค้า
ผลกระทบที่เกิดจากการประกันราคา
1. มีโอกาสเกิดการทุจริตในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การรับรองพื้นที่ และปริมาณผลผลิต
2. หากกำหนดราคาประกันสูง จะทำให้เกิดแรงจูงใจแก่เกษตรกรเพิ่มเนื้อที่การผลิต
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มบุคลากรจำนวนมากมาสนับสนุนการดำเนินงานเพราะคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเกือบทั้งหมด
4. หากราคาผลผลิตตกต่ำมากจะเป็นภาระของรัฐบาลในการจัดหาเงินทุนมาชดเชยแก่เกษตรกร โดยเฉพาะการร่วมมือกันกดดันราคาของผู้ค้าผลิตผลทางการเกษตร
5. หากเกษตรกรขายผลผลิตได้ต่ำกว่าราคาตลาดอ้างอิงมาก อาจชุมนุมเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลช่วยเหลือ
6. ผู้ที่เคยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการรับจำนำ ไม่สนับสนุนการดำเนินงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น